บทความจากโครงการพัฒนาความร่วมมือในระดับสากล แผนงานส่งเสริมการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อสุขภาพ
 กฎบัตรโตรอนโตเพื่อกิจกรรมทางกาย : ข้อเสนอระดับโลกเพื่อให้เกิดการปฏิบัติ  pdf.
(The Toronto Charter for Physical Activity: A Global Call for Action)
 Next


บทความในหน้า (1)
 การออกกำลังกายนะหรือ? ผมไม่มีเวลา
 ความเมื่อยล้าจากการงาน ขจัดได้โดยการออกกำลังกาย
 จะเป็นแชมป์ ต้องคิดอย่างแชมป์
 นักวิ่ง กับ นักจักรยาน
 การแข่งขัน กับ ความวิตกกังวล
 สิ่งที่พอช่วยได้
 กฏของไมโล
 นักวิ่งมี 4 ประเภท
 การวิ่ง กับ การเกษตรกรรม


* โปรดเลื่อนลงไปคลิกเลขหน้าที่ด้านล่างสุดของหน้า
 ก้าวขึ้นสู่มาราธอนครั้งแรก (2)
 ไตรกีฬาครั้งแรกของลูกสาวผม ที่มุกดาหาร (3)
 กระทรวงสาธารณสุขนนทบุรี-กรมทหารราบที่ 11- สวนหลวง ร .๙- สวนลุมพีนี 
   สนามไหน? สวนไหน? ค่าใช้จ่ายมากกว่ากัน? (4)
 การล้างสารพิษที่หมักหมมออกจากร่างกาย (5)
 น้ำผลไม้ ให้โทษมากกว่าให้คุณ (6)
 อันตรายจากการดื่มน้ำเย็น (7)



 

การออกกำลังกายนะหรือ?
ผมไม่มีเวลา

     เรื่องการพูดชักชวนให้ชาวบ้านชาวช่องออกจากโต๊ะทำงานหรือลุกจากหน้าจอโทรทัศน์มาออกกำลังกาย ผมน่ะท้อเสียแล้วล่ะครับ ให้พูดชักชวนอะไรก็ได้ทั้งนั้นแหละแต่เรื่องชวนไปออกำลังกายนี่พูดยากครับเพราะผู้ที่เรามุ่งหวังจะให้เขาได้ประโยชน์เค้าก็ฟังดีอยู่นะครับเห็นคล้อยตามไปหมดไม่ขัดแย้งเลย เพียงแต่ลงท้ายด้วยการสนทนาว่า "ก็ดีหรอกครับ…แต่ผมไม่มีเวลา" เก้าในสิบรายจะตอบเช่นนี้ หลังๆมาผู้เขียนจึงไม่ใคร่ชวนใครแล้วเพราะชวนแล้วไม่สำเร็จ แต่มาวันนี้ผู้เขียนกลับมาเขียนเรื่องที่น่าเบื่อหน่ายนี้ คือเรื่องชวนคนอื่นไปออกกำลังกายอีกครั้งด้วยเห็นว่า เขียนตรงนี้ทีเดียวจะได้ผู้อ่านมากๆเท่ากับเป็นการประหยัดพูดไปได้หลายร้อยครั้ง อาจคุ้มค่าอยู่จะได้ไม่ต้องไปอธิบายกันหลายคนดีไหมครับ ผู้เขียนคาดหวังผู้อ่านอยู่สองกลุ่ม คือกลุ่มผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังและมักอ้างว่าไม่มีเวลานี้กับกลุ่มผู้ที่ออกกำลังกายอยู่แล้วและอาจไปชักชวนให้ผู้อื่นมาออกกำลังได้เตียมตัวตั้งรับกับคำว่า "ผมไม่มีเวลา" เพราะคุณจะต้องได้เจอคำแก้ตัวนี้แน่ๆรับรองเลยครับ บทความนี้จึงไม่ใช่เริ่มต้นจากการชักชวนให้ผู้คนต่างๆไปออกกำลังกันอย่างธรรมดาแต่กลับเริ่มตรงที่ไปชวนแล้วและได้รับคำตอบว่าไม่มีเวลาเป็นส่วนใหญ่ ยิ่งถ้าผู้อ่านเป็นคนที่ตอบแบบนี้ยิ่งสมควรที่ต้องอ่านอย่างยิ่งเลยครับ เราต้องเริ่มทำความเข้าใจให้ตรงกันเสียก่อนว่า
1. ในทุกวันนี้ พวกเราทั้งหลายต่างต้องการความแข็งแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจมากกว่ายุคสมัยใดที่ผ่านมา เพราะโลกยุคโลกาภิวัฒน์มีความเสื่อมโทรมจากมลพิษที่มากกว่าแต่ก่อน ทั้งมลพิษที่เข้าทางปาก,เข้าทางหู,แม้แต่มลพิษทางใจ ซึ่งโดยธรรมชาติ ร่างกายมักจะปรับความสมดุลย์ขับถ่ายออกทางอายตนะต่างๆอยู่แล้ว แต่นับวันมลพิษเหล่านี้มีมากมายยิ่งขึ้นไปอีก การที่เราจะมีพฤติกรรมที่จะช่วยให้ธรรมชาติสะสางมลพิษจากร่างกายเราได้เร็วได้มากเท่าไร ย่อมจะเป็นความฉลาดใช่ไหมครับ นอกจากมลพิษแล้ว ยังมีภาวะความเครียดจากการงาน มีสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันมาก ร่างกายไม่เคยได้รับภาวะหนักใดๆอีก ส่งผลให้ร่างกายใช้แรงที่น้อยลงในกิจวัตรในการงานอาชีพ สำหรับบางท่านก็ขาดความสมดุลย์ในการใช้ร่างกายกับสมอง (Sedentarian) หรือแม้แต่ภาวะสูงอายุซึ่งบางท่านก็อาจพบทุกปัญหานี้เลย ภาวะเช่นนี้ไม่เคยพบว่า ยุคใดไม่เคยประสบปัญหาเหล่านี้มากเท่ายุคปัจจุบันเลย
2. ยิ่งคุณไม่มีเวลาอย่างที่ว่า ยิ่งต้องหาเวลาออกกำลังแทรกลงไปให้ได้ เพราะยิ่งคุณ Busy มากเท่าไร จะเท่ากับคุณถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงของผู้ป่วยมากเท่านั้น ทั้งโรคมะเร็ง,โรคหัวใจ,โรคเบาหวาน,โรคเกี่ยวกับหลอดเลือด,โรคเกี่ยวกับความดัน,โรคภูมิแพ้,โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ โอ้ย..เยอะแยะ จารนัยไม่หมด ซึ่งโรคเหล่านี้ต้องแก้ไขป้องกันด้วยการออกกำลังทั้งนั้นเลย
3. ข้อนี้สำคัญที่สุด ผู้เขียนขอวิจารณ์แรงๆว่า ผู้ที่บอกไม่มีเวลานั้น แสดงว่าเขาไม่เห็นความสำคัญของสิ่งนั้นหรือเห็นสิ่งอื่นมีความสำคัญกว่า เช่น เมื่อคุณปฎิเสธตัวแทนขายสินค้าที่เข้าพบคุณด้วยข้ออ้างว่าไม่มีเวลานั้น ย่อมแสดงว่าคุณไม่ให้ค่ากับสินค้าตัวนั้น รู้สึกเสียเวลาที่จะมานั่งฟังตัวแทนมานั่งสาธยายสรรพคุณ อีกสักตัวอย่าง นักธุรกิจผู้มีภาระยุ่งมากขนาดสัปดาห์มี 7 วันยังไม่รู้สึกเพียงพอแต่ท่านก็ปลีกเวลา 1 วันเต็ม ตัดภารกิจให้ผู้อื่นทำแทนหมดเพื่ออุทิศวันนั้นให้กับครอบครัว ให้กับลูกเพราะท่านตระหนักว่า ท่านต้องการความรักเล็งเห็นความสำคัญของครอบครัวที่ต้องอบอุ่น นอกจากความสำเร็จทางด้านการงานการเงิน คนเราถ้าเห็นความสำคัญของอะไรก็ปลีกเวลาได้เสมอแหละครับ ยิ่งเห็นความสำคัญมากก็ยิ่งมีเวลาให้มากเท่านั้น ฉะนั้นเมื่อคุณบอกว่า "ไม่มีเวลา" ย่อมแปลว่า คุณเห็นอย่างอื่นสำคัญกว่าการมีสุขภาพที่ดี พูดง่ายๆป่วยไม่ว่า ขอให้รวยไว้ก่อน คุณกำลังหลงไปว่า ความมีสุขภาพสมบูรณ์ย่อมซื้อได้เหมือนกับสิ่งต่างๆในสังคมนี้
4. เมื่อเราตัดสินใจไม่ซื้ออุปกรณ์ออกกำลังกาย เช่น ไม่ซื้อรองเท้าวิ่ง ไม่ซื้อจักรยานหรือลู่วิ่ง นั่นเท่ากับเราเพิ่มความเสี่ยงในรายจ่ายให้กับแพทย์และกระบวนการบำบัด ซึ่งนั้นมีรายจ่ายแฝงเพิ่มอยู่ในโอกาสที่สูญเสียไปกับการที่จำต้องนอนอยู่ในโรงพยาบาล แทนที่จะไปทำงานหารายได้ในมูลค่าที่แพงกว่าหลายร้อยหลายพันเท่า มันไม่ค่อยฉลาดเลยนะครับ ยังไม่พอเพียงเท่านี้ เรายังแสวงหาโรคเข้ามาซ้ำเติมด้วยเหล้า,บุหรี่ และการสำส่อนเข้าไปอีก เลิกได้ละก็เยี่ยมเลย
5. ควรเข้าใจว่าสุขภาพที่สมบูรณ์ เป็นเรื่องที่ต้องทำแต่เนิ่นๆ เป็นเรื่องป้องกัน ไม่ใช่การรักษา การที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมจากการที่ไม่เคยออกกำลังชนิดใดมาเลยมาเป็นผู้ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ จำต้องเปลี่ยนแปลงกิจวัตรพอสมควรจากที่เคยทำบางสิ่งได้อาจจะไม่ได้ทำอย่างนั้นอีกในเวลาเดิม ผู้เขียนไม่แนะนำให้พิจารณาตารางกิจวัตรประจำวัน ว่าจะใส่ครึ่งชั่วโมงของการออกกำลังกายลงไปในเวลาใด หากแต่ให้ดูกิจวัตรประจำสัปดาห์แทนซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้น่าจะพอหาที่แทรกได้อยู่ เพราะเราต้องการเพียงครึ่งชั่วโมงที่ต่อเนื่องกัน สัปดาห์ละอย่างน้อย 4 ครั้งและมีความสม่ำเสมอด้วยเท่านั้นจะว่าไม่ยากก็ไม่ยากนะครับ
ลองพิจารณาให้การออกกำลังกาย เป็นกิจกรรมแรกๆของชีวิตที่คุณต้องทำโดยให้มองว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะขาดเสียไม่ได้ เช่น ชีวิตครอบครัว,ลูก,การงาน การอาชีพหรือการปฎิบัติธรรมเป็นสิ่งแรก ส่วนความบันเทิง,มิตรภาพ,และการเข้าสังคมเป็นสิ่งรอง ต่อไปเราต้องกำหนดจัดลำดับการออกกำลังกายให้อยู่ในบัญชีของสิ่งแรกที่เพิ่มเข้าไปด้วย เพราะตราบใดที่เราจัดการออกกำลังกายไว้ในบัญชีที่สองหรือที่สาม เราก็คงไม่ได้ออกกำลังกายเสียที โดยพูดว่าไม่มีเวลาอยู่เหมือนเดิม คำแนะนำสุดท้ายก็คือ หลักการ 80-20 กล่าวคือ พยายามกินอาหารที่ดี 80% ซึ่งอาจมีอาหารที่เลวปะปนเข้าสัก 20% พยายามประพฤติแต่สิ่งที่ดี 80% ซึ่งอาจมีพฤติกรรมที่เลวตามความเคยชินหลงทำไปสัก 20% พยายามปลีกเวลา 80% ไปออกกำลังกาย โดยเผื่อไว้สำหรับการขาดซ้อม 20% หรือไม่ได้ไปออกกำลังตามกิจวัตรที่ตั้งใจด้วยความจำเป็นจริงๆ ผู้เขียนพบว่า มันลำบากที่จะปรับตัวในสัปดาห์แรกๆเท่านั้นแหละครับยิ่งพอได้มีกิจวัตรออกกำลังผ่านไปได้สักเดือนหนึ่งแล้ว โอกาสที่จะติดนิสัยความเคยชินใหม่ๆจะเริ่มเป็นไปโดยอัตโนมัติ โดยจะทำไปอย่างปราศจากความพยายามเลยและเมื่อสักระยะหนึ่งพอเห็นผลว่าร่างกายเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว คุณจะบอกว่า "รู้งี้ ทำมาเสียตั้งนานแล้ว"แล้วจะกลายเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการชักชวนให้คนอื่นไปออกกำลังกายด้วยเหมือนผู้เขียนทำอยู่ไงครับ...

โดย  กฤตย์  ทองคง


 

ความเมื่อยล้าจากการงาน
จะถูกขจัดได้โดยการออกกำลังกายได้อย่างไร?

      มีเพื่อนที่ไม่วิ่งของผู้เขียนเห็นผู้เขียนไปวิ่งตามสนามต่างๆได้เหรียญมาก็มาดูมาชมว่าสวยดี จึงมีโอกาสได้สนทนาในเรื่องวิ่งที่กว้างออกไป เลยชักชวนให้เขาไปวิ่ง แน่ละ…เขาปฎิเสธตามเคย อ้างโน่น อ้างนี่เรื่อยมา โดยอธิบายว่า ทำงานอยู่ทุกวันนี่ก็เหนื่อยและเมื่อยพอแล้ว ยังไปวิ่งมันให้เหนื่อยอีก เขาต้องการผ่อนคลายไม่ใช่ไปเพิ่มความเมื่อยล้า นี่ไม่ใช่คำกล่าวอ้างที่ผู้เขียนได้ยินเป็นครั้งแรก บ่อยครั้งมากที่ผู้ไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำยังไม่เข้าใจว่า การออกกำลังกายจะเป็นสิ่งที่ผ่อนคลายได้อย่างไร เขาเห็นเราเหงื่อโทรมกายหลังจากที่วิ่งมา ทำให้พวกเขาคิดว่า การวิ่งหนักเหนื่อยเกินกว่าการทำงาน ภาพที่เขาเห็นนี้เท่ากับตอกย้ำสิ่งที่เขาเข้าใจว่าคิดถูกให้หนักแน่นขึ้นไปอีก อันความเมื่อยล้านั้นเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติ หลังจากที่ร่างกายออกแรงกายหนักๆเป็นเวลานานๆด้วยการหดตัวของกล้ามเนื้อ อันจะยังผลให้ข้อต่อและกระดูกที่กล้ามเนื้อกลุ่มนั้นเกาะติดอยู่ เคลื่อนไหวไปในทิศทางต่างๆด้วยความหนักเบาต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของบุคคลนั้น ทำให้คนเรามีกิจวัตรประจำวันทำงานอยู่ได้ตลอดมา ในช่วงที่กล้ามเนื้อหดตัวเพื่อทำงานหรือออกกำลังดังกล่าว จะเกิดพลังงานขึ้น พลังงานนี้มาจากไหน ก็มาจากการเผาผลาญอาหารที่สะสมมากับกล้ามเนื้อ ในกระบวนการเผาผลาญนี้ก่อให้เกิดสารเคมีจำพวกกรดแลคติค เจ้าตัวสารเคมีนี้แหละเป็นของเสียที่จำต้องถูกระบายออกไปจากกล้ามเนื้อ มิเช่นนั้นจะเกิดความเมื่อยล้าได้ ธรรมชาติได้อนุญาตให้ร่างกายสะสมกรดแลคติคนี้ได้ในจำนวนที่จำกัดจำนวนหนึ่งที่ไม่มากนักเมื่อสะสมหนักเข้าก็จะทำให้กล้ามเนื้อนั้นหมดประสิทธิภาพการทำงานไปในที่สุด  การระบายสารเคมีตกค้างจากการเผาผลาญดังกล่าวเกิดในช่วงจังหวะที่คลายกล้ามเนื้อขณะเดียวกันก็ชำระเอาสารเคมีตกค้างและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับออกไป ทีนี้การเคลื่อนไหวหรือการทำงานหรือการกีฬาจะมีอยู่สองลักษณะ คือ แบบที่ข้อต่อเคลื่อนไหวมากๆกับแบบที่ข้อต่อเคลื่อนไหวน้อยๆในอย่างแรกจะประกอบด้วยกล้ามเนื้อหดเกร็งและผ่อนคลายอยู่ตลอดเวลา กลับไปกลับมามีความสม่ำเสมอ แบบนี้เรียกว่า Aerobic Exercise แบบนี้จะเกิดเมื่อยล้าไม่มาก ตรงข้ามกับการเคลื่อนไหวข้อต่อน้อยๆ Anaerobic Exercise จะเกิดการเมื่อยล้ามาก เช่น การงัดข้อ การยกน้ำหนักหรืองานกิจวัตร งานบ้าน นี่ไงครับ ที่การทำงานประจำวันและการทำงานตามสำนักงานจะก่อให้เกิดความเมื่อยล้า เพราะมีการหดตัวและคลายกล้ามเนื้อน้อยนั่นเอง และทำไมผู้เขียนถึงบอกว่าการวิ่งทำให้ผ่อนคลาย ก็เพราะมันมีจังหวะที่สลับไปสลับมาในแต่ละก้าว ในช่วงจังหวะที่มีการประสานงานระหว่างการเกร็งและการคลายตัวอยู่ตลอดเวลา ช่วยขจัดสารเคมีที่ตกค้างจากที่ทำงาน ทีนี้ผู้ที่ไม่รู้ก็ไปกินยาแก้ปวดเมื่อย ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนของกระเพาะและลำไส้ตามมา นับเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดและสร้างปัญหาใหม่ขึ้น เมื่อเข้าใจเช่นนี้แล้ว เพื่อขจัดความเมื่อยล้าจากที่ทำงาน เราจึงควรแสวงหาภาวะความสมดุลย์ของการเกร็งและผ่อนคลาย คือ นานๆที ลุกขึ้นมาสบัดแข้งสบัดขาสักพักหนึ่งก็พอช่วยได้ ในทำนองเดียวกัน การอยู่เฉยๆไม่ทำงานใดๆก็จะเมื่อยล้าได้ เพราะความหมุนเวียนของโลหิตน้อย ไม่คล่องตัว สรุปว่า มากเกินไปก็เมื่อยล้าน้อยเกินไปก็เมื่อยล้า และนี่คือเหตุผลที่ทำไมเมื่อนักกรีฑาวิ่งเข้าเส้นชัยจึงไม่ควรหยุดวิ่งกระทันหัน ต้องต่อเนื่องเหยาะเบาๆช้าๆต่อไป เพื่อเป็นการระบายสารเคมีตกค้างนั่นเอง ดังนั้นการออกกำลังกายแบบสมดุลย์ ของการเกร็งและผ่อนคลายกลับไปกลับมา ที่เรียกว่า Aerobic Exercise จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกคน ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่ทำงานเบาหรือหนัก โดยจะถือเอาการทำงานในชีวิตประจำวันมาทดแทนการออกกำลังกายนั้นหาได้ไม่ เพราะไม่มีความสมดุลย์ของการเกร็งและผ่อนคลายได้ดีเท่ากับการออกกำลังกาย เช่นการวิ่งเหยาะในช่วงที่หมดภาระของวัน จะช่วยต่อเนื่อง ยืดอายุประสิทธิภาพการทำงานของคุณไปได้ โดยที่ไม่มีความเมื่อยล้าจนเกินไปครับ

โดย  กฤตย์  ทองคง


  จะเป็นแชมป์ต้องคิดอย่างแชมป์

     เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า นักวิ่งทั้งหลายที่ต่างขะมักเขม้น ซ้อมกันเต็มความสามารถก็เพื่อความพร้อมของร่างกาย เพื่อสร้างความทนทานของกล้ามเนื้อ เพิ่มประสิทธิภาพของกล้ามเนื้อขาและสภาพการรับออกซิเจนสูงสุดหรือ แม้แต่เปอร์เซนต์ปริมาณไขมันในร่างกาย แต่ดูเหมือนจะมีอยู่สิ่งหนึ่งที่ยังไม่ได้รับความใส่ใจอย่างพอเพียงจากหมู่นักวิ่ง ทั้งๆที่เป็นปัจจัยสำคัญจนกระทั่งบางครั้งอาจชี้ขาดความสำเร็จในการวิ่งทีเดียว สิ่งนั้นคือ สภาพจิตใจ ซึ่งบทความนี้กำลังจะกล่าวถึงสภาพจิตใจที่เหมาะสมกับนักวิ่ง เพื่อให้การวิ่งเต็มไปด้วยความสนุกสนานพึงพอใจ เป็นจิตใจที่ช่วยเปิดโลกที่แท้จริง ทั้งภายในและภายนอก ย้อนไปเมื่อปี 1954 Roger Bannister ทำสถิติวิ่งระยะทาง 1 ไมล์ได้ต่ำกว่า 4 นาที (SUB-4) เมื่อ 6 พฤษภาคม ด้วยเวลา 3:59:40 เรื่องที่ผู้เขียนจะเล่า กลับไม่ใช่เรื่องความเร็วของ Bannister หากเป็นความจริงที่น่าตื่นใจอันอาจหลุดไปจากความใส่ใจของพวกเราหลายคน นั่นคือ หลังจากที่ Bannister วิ่งได้ต่ำกว่า 4 นาที ซึ่งเรียกกันในวงการว่า "SUB-4 Minutes Mile" ภายในหนึ่งปีถัดมา ก็มีนักวิ่งคนอื่นๆจำนวนถึง 4 ราย ที่สามารถวิ่ง SUB-4 ได้สำเร็จเช่นกัน มีคำถามที่น่าสนใจว่า ทำไม ? ทำไม 4 รายหลังจึงสามารถทำได้หลังจากที่ Bannister ทำไมถึงไม่ทำได้ก่อน และทำไมถึงมีตั้ง 4 ราย ทั้งๆที่ SUB-4 ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ คำอธิบายทางจิตวิทยาที่น่าตื่นเต้นมีอยู่ว่า เพราะ SUB-4 ของ Bannister เป็นตัวชนวนเร่งเร้าจิตใจทั้ง 4 ราย ให้มีความกระหายอย่างแรงกล้าที่จะมุ่งมั่น ทะลุทะลวง ให้พ้นพรมแดนจำกัดของร่างกายออกไปได้อีก เรื่องของ Bannister ปฎิเสธก็คือ ความคิดที่ว่า "ฉันอาจทำไม่ได้" เพราะเมื่อแว่บขึ้นมาเช่นนี้มันเท่ากับเป็นเครื่องถ่วงรั้งโดยอัตโนมัติมิให้เราทำได้สำเร็จ ในขั้นตอนนี้ อาจต้องปักใจเชื่ออย่างปักใจให้เกิดได้ในตัวเสียก่อนที่จะแข่งขัน เมื่อความคิดว่า "ฉันต้องทำได้"เริ่มแจ่มชัด ความเป็นไปได้จะถูกพลิกกลับเอาด้านที่เป็นไปได้ขึ้นมา พลังใจที่กำลังอธิบายนี้ คงไม่เพียงแต่อธิบายความสามารถที่จะวิ่งได้เร็วเพื่อถ้วยรางวัลเท่านั้นแต่หากสามารถนำไปใช้กับ ทุกปริมณฑลของชีวิต ในทุกสถานการณ์และกับทุกคนที่อาจเผชิญกับปัญหาท้าทายศักยภาพอยู่ ต่อไปจะแจกแจงรายละเอียดสภาพความคิดจิตใจที่เอื้ออำนวยต่อการวิ่งที่ประสบความสำเร็จดังนี้

1. "ฉันต้องทำได้"
     หลังจากที่ Bannister วิ่ง SUB-4 ได้สำเร็จ ได้มีวารสารทางการแพทย์และกีฬาหลายฉบับที่แสดงความคลางแคลงใจ ไม่น่าเชื่อว่าจะมีมนุษย์คนไหนสามารถวิ่ง 1 ไมล์ ที่ต่ำว่า 4 นาทีได้สำเร็จ แต่ Bannister ไม่คิดจะแก้ตัวหรือหาคำอธิบายใดๆสิ่งที่เขาทำเพียงอย่างเดียวคือ เขาได้ปฎิเสธข้อจำกัดทางร่างกายของเขาสำหรับพวกเรา ความสำเร็จของ Bannister เป็นเครื่องยืนยันว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นไปแล้ว ความเชื่อที่ว่า "ฉันต้องทำได้" พิสูจน์แล้วว่าถูกต้อง ตรงกันข้ามนักวิ่งบางคนกลับยกมือยอมจำนน คิดกันไปเองว่า "เรามีอายุมากแล้ว" "เราอ้วนเกินไป" "เราฝึกมาไม่พร้อม" "เราไม่แข็งแกร่งพอ" แต่ละเรื่องที่ยกมาอ้าง ล้วนแต่เป็นข้อจำกัดทั้งสิ้น แต่เขาลืมความจริงประการหนึ่งนั้นคือแชมป์เขาก็มีข้อจำกัดที่เราไม่รู้เหมือนกัน และเขาก็ไม่อยากให้ใครรู้ เพียงแต่เขาสามารถพุ่งทะลุทะลวงปราการสำเร็จก่อนเราเท่านั้น เฮนรี่ ฟอร์ด กล่าวว่า "เมื่อคุณพูดว่าทำได้ นับว่าพูดได้ถูกต้องและเมื่อพูดว่าคุณทำไม่ได้ ก็นับว่าพูดได้ถูกต้องอีก" สิ่งนี้อธิบายได้ว่า เมื่อคนเรามีความมั่นใจว่าจะต้องทำได้ก็เท่ากับเป็นการเพิ่มระดับแรงจูงใจ สร้างข้อผูกพันธ์กับตนเอง โดยที่ทั้งหมดก้าวไปอย่างเงียบเชียบ ทรงพลังและน่าตื่นเต้นเร้าใจ ในทำนองกลับกัน ถ้ากลายเป็นว่า "ฉันคงทำไม่ได้" จะเท่ากับเป็นการตัดโอกาสแห่งความสำเร็จไปเลย เป็นเวลาหลายปีที่เราเห็นนักกีฬาหลายระดับ ทั้งนักกีฬาระดับแนวหน้าและระดับกลาง พวกเขาล้วนมีทัศนคติแบบที่แชมป์เขาคิดกัน พวกนี้จะโยนความคิดประเภท "ฉันอาจทำไม่ได้" ทิ้งไปทั้งหมดเลย สำหรับความคาดหวังที่เขาจะอธิบายสิ่งที่เป็นจริง พวกนี้จะทำความกระจ่างกับตัวเองว่า "จากข้อมูลที่มีอยู่ บอกแนวโน้มได้ว่า อาจจะยังไม่ประสบกับความสำเร็จในระยะนี้" แทนที่จะกลายเป็นว่า "ฉันอาจทำไม่ได้" พวกเขานำเอาเป้าหมายที่สุดเอื้อมมาวางอยู่ในตำแหน่งที่เอื้อมไปถึง โดยตรรกเดียวกันนี้ พวกเราไม่จำเป็นต้องวิ่งเร็วอย่างแชมป์ แต่ผู้เขียนเสนอแนวคิดนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยให้นักวิ่งวิ่งได้ดีขึ้น อย่างน้อยก็ในระดับของแต่ละคน เป็นไปด้วยความรื่นรมย์ มองโลกในแง่ดีนับเป้นการเขยิบการจัดตั้งสภาพความคิดจิตใจเสียใหม่ในเชิงรุกทางยุทธศาสตร์ ให้ปลดพันธนาการได้อีกเปลาะหนึ่ง

2. เรียนรู้จากความผิดพลาด
นักวิ่งจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความล้มเหลว คุ้นชินกับความผิดพลาด แชมป์ทุกคนล้วนเคยผิดพลาดกันมาทั้งนั้น ลองไปถามดูได้ที่กว่าจะมาถึงจุดสุดยอด อุปสรรคที่พวกเขาพานพบล้วนมากมายครั้งแล้วครั้งเล่า จนแทบจะรับมือไม่ไหว พวกเราต้องทำตัวทำใจรับมือกับสิ่งเหล่านี้ให้ได้ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยไปจนถึงเรื่องใหญ่โต เฮริ์บ ลินด์เซย์ (Herb Linlsey) นักวิ่งทางเรียบแนวหน้าคนหนึ่งที่ประสบความปราชัยปี 1980 ได้ตอบคำถามที่ว่า คุณรู้สึกต่อการพ่ายแพ้ครั้งนี้อย่างไร ว่าจะเข้าแข่งขันในสนามถัดไปทันทีที่ทบทวนข้อผิดพลาดและปรับปรุงให้เร็วขึ้นอีก จะเห็นได้ว่า คำตอบของ สินด์เซย์ ปราศจากความผิดหวัง เขาสร้างเบรรยากาศแวดล้อมส่วนตัวของเขาเองในทุกสถานการณ์ที่เอื้อต่อความสำเร็จขึ้นเรื่อยๆ ในเมื่อเราเรียนรู้ที่จะปรับปรุงร่างกายให้แข็งแกร่งตั้งแต่การเดิน การจ๊อกและมาราธอนด้วยการลองผิดลองถูกเสมอมา จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะสร้างสภาวะที่เป็นศัตรูต่อตัวเอง มันเป็นเรื่องที่ผิดพลาดมากที่เข้าใจเอาเองว่าแชมป์ทั้งหลายที่เขาได้ถ้วยรางวัลนั้นเป็นเพราะการฝึกซ้อมของพวกเขาทำกันได้สมบูรณ์แบบเบื้องหลังที่พวกเราไม่ได้ใส่ใจก็คือพวกเขาพลาดมาเป็นร้อยเป็นพันครั้งแล้วหากแต่ปรับปรุงขึ้นมาจากบทเรียนเหล่านั้น
เมื่อพวกเขาได้เรียนรู้ที่จะสร้างบรรยากาศทางจิตใจใหม่ๆที่จะยอมรับข้อผิดพลาด เท่ากับเป็นการให้อิสร
ภาพแก่ตนเอง ลองเสี่ยงดูวิธีการใหม่ๆซึ่งแน่นอน เราอาจต้องพบกับความผิดพลาดอีก แต่โอกาสในการเจริญเติบโตจะได้กลายเป็นประสบการณ์ที่ทรงคุณค่า ที่แชมป์ทุกคนรู้ดีว่า นี่คือกุญแจดอกสำคัญที่ไขไปสู่ประตูแห่งความสำเร็จ

3. คิดถึงชัยชนะในแง่มุมใหม่ 
      คำขวัญของโอลิมปิคเกมส์ที่กล่าวถึงความสำคัญของการเข้าร่วมแข่งขันว่า "ไม่ได้อยู่ที่ชัยชนะ หากแต่อยู่ที่การมีส่วนร่วมและได้เข้าร่วมแข่งขันอย่างดีที่สุด "The important thing in the games is not winning but  taking part.The essential thing is not comquering but fighting well. ในหนังสือ THE ZEN OF RUNNING ของ FRED ROHE กล่าวไว้ว่า "ไม่มีมาตราฐานและชัยชนะการวิ่งใดจะสำคัญไปกว่า ความสนุกสนานและความรื่นรมย์จากการได้วิ่ง ด้วยว่าคุณไม่ได้วิ่งเพื่อรางวัลในอนาคตข้างหน้า หากแต่เป็นรางวัลจากการที่ได้มีโอกาสวิ่งในปัจจุบันขณะ" ลำพังการได้วิ่งก็นับได้ว่าเป็นโชคดีของพวกเราที่ได้เป็นพวกที่เล็งเห็นเรื่องของสุขภาพมากกกว่าคนอีกจำนวนมาก เพียงเท่านี้ก็เป็นรางวัลที่ทรงคุณค่าอยู่แล้ว ความสามารถวิ่งได้เร็วจนได้รางวัลก็ดีอยู่ แต่หากติดยึดกับมันจนเป็นทุกข์ ทุกข์ที่ตึงเครียดวิตกกังวล เกรงว่าจะไล่ไม่ทันคู่แข่ง สิ่งเหล่านี้เป็นตัวถ่วงที่ทำให้วิ่งได้ไม่ดี โดยที่ความเป็นจริงแล้ว สิ่งเหล่านี้ มีอิทธิพลต่อการวิ่งมากกว่าที่เราคิดเสียอีก การวิ่งด้วยทัศนคติที่ใจจดจ่ออยู่กับแต่สมรภูมิภายใน ไม่ใช่ภายนอกนี้เองที่ช่วยให้การวิ่งดีขึ้นทั้งด้านความสนุกสนานและการแข่งขัน

4. คู่แข่งขันเราก็คือเพื่อน
       ให้เตือนใจตนเองตลอดช่วงการแข่งขันว่า คู่แข่งขันคือผู่ที่ดูดเราให้วิ่งได้ดีขึ้นสุดขีดจำกัดที่มีอยู่ ถ้าปราศจากพวกเขาเราก็ไม่อาจวิ่งเร็วได้ขนาดนี้ มองให้เห็นว่า เขามีความสำคัญกับเรา และเพราะเขามาแข่งขันในสนามนี้ เราจึงได้มีโอกาสสะสมประสบการณ์ด้านกีฬาจากพวกเขา และเมื่อเราต่างคิดกันแบบนี้ก็เท่ากับว่าเราได้สร้างบรรยากาศในหมู่นักวิ่งให้ได้มีประสบการณ์ที่วิเศษสุดที่จะร่วมมือกันสู่ชัยชนะแทนที่จะเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน

5. ความง่ายนั้นเป็นพลัง
       Abbe Bikila นักวิ่งชาวเอธิโอเปียผู้ชนะเลิศโอลิมปิคมาราธอน ปี 1960 ด้วยการวื่งเท้าเปล่า เล่าว่า เขาไม่ได้สนใจความซับซ้อนของโปรแกรมฝึก,ไม่เคยจับเวลา เพียงแต่วิ่งไปอย่างธรรมดา  Bill Roger  ชนะบอสตันมาราธอนได้ในครั้งแรกที่เขาลงแข่งด้วยเวลา  2:09 เขาเรียนรู้ที่จะวิ่งอย่างสบายๆด้วยเขาค้นพบว่าสามารถวิ่งด้วยจิตใจที่สบายได้อย่างไร Mark Nenow แชมป์ 10,000 เมตรของอเมริกา ไม่เคยใส่ใจกับน้ำหนักของกล้ามเนื้อ ,อัตราการเต้นของหัวใจ หรือเวชศาสตร์กีฬาใดๆ เขาวิ่งโดยปราศจากความคาดหวังที่ยิ่งใหญ่ ไม่สนใจอะไรทั้งนั้น เขาเพียงแต่วิ่ง พวกเขาทั้งสามคนเป็นตัวอย่างที่ยืนยันปรัชญาการวิ่งของ โจ  แฮนเดอร์สัน ( Joe Handerson )
ที่เคยกล่าวอยู่เสมอว่า "ไม่ต้องวางแผนซับซ้อน ไม่ต้องวิเคราะห์การแข่งขันใดทั้งสิ้นเพียงแต่ลงสนามและวิ่งด้วยความปลอดโปร่งโล่งใจ เพียงเท่านี้ก็เป็นประโยชน์ต่อการวิ่งแล้ว"

6. การฝึกปานกลางแบบสมดุลย์
       มีแชมป์จำนวนมากที่ไม่ได้ฝึกหนัก อย่างเอาเป็นเอาตาย วิ่งบางคนที่เชื่อว่า การฝึกหนักเช่นนั้น อาจจะยังผลที่ไม่ดีต่อการวิ่ง เมื่อเทียบกับการซ้อมระดับปานกลาง ความปานกลางในที่นี้คงไม่ได้หมายความถึง จุดกึ่งกลางระหว่างการฝึกหนักกับการไม่ฝึกเลย จุดเหมาะสมคงอยู่ที่ความแตกต่างระหว่างบุคคลมากกว่า ในทิศทางที่ค่อนข้างไปทางที่ฝึกมากอยู่ แต่ก็ไม่ใช่การฝึกหนักอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งเรียกอีกอย่างหนนึ่งได้ว่า "ความพอดี" ตามสิ่งแวดล้อมของแต่ละคน Jeff Galloway  ใช้วิธีนี้ในการฝึกร่วมกับกลุ่มมาราธอนหลายกลุ่มทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา โดยรวบรวมข้อดี ข้อเด่นตามโปรแกรมของแต่ละกลุ่มที่จะสามารถจะนำมาใช้อย่างเหมาะสมกับตัวเขา โดยตัดข้อที่ไม่เหมาะสมออกไป อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็ยังไม่เป็นเรื่องที่ยุติเสียทีเดียว เพราะยังพบว่ามีตัวอย่างอีกเป็นจำนวนไม่น้อยที่ประสบการณ์ของพวกเขากลับสนับสนุนข้อมูลที่ตรงกันข้ามกับคำแนะนำนี้ กล่าวคือ ยิ่งฝึกหนักเท่าใดก็ยิ่งประสบความสำเร็จเท่านั้น และความสมดุลย์ที่กล่างถึงนี้ คงไม่ใช่ความสมดุลย์ของการฝึกแบบ วิ่งวันละ 12 ชั่วโมง และที่เหลืออีก 12 ชั่วโมงนอนพักเป็นแน่ เพราะในโลกเรา ยังมีสิ่งที่น่าสนใจ และสื่งที่ต้องกระทำ มากกว่าการวิ่งและนอนเท่านั้น ความสมดุลย์คือความพอดีในกิจกรรมทั้งหมด ไม่ว่า การเดิน,การพักผ่อน,ความสนุกสนาน,ครอบครัว,ภารกิจการงาน ฯลฯ ดังตัวอย่างของ อินกริด คริสเตียนเซน (Ingrid Kristiansen) ผู้ซึ่งยังคงเป็นแชมป์มาราธอนอยู่ได้ ทั้งๆที่คลอดลูกคนแรกแล้วถึง 2 ปี ซึงครอบครัวและงานอดิเรกชนิดอื่น ช่วยให้ชีวิตของเธอเต็มเปลี่ยนไปด้วยความสมดุลย์ และสำเร็จในการแข่งขัน ทั้งๆที่การดูแลเด็ก ต้องการพลังงาน และความใส่ใจอย่างมหาศาล แต่เหตุการณ์กลับไม่ได้เป็นสิ่งที่ถ่วงการวิ่งของเธอเลย สำหรับนักวิ่งบางคนที่เคยลองฝึกหนักมาแล้ว ฝีเท้ากลับตก หรือไม่ดีขึ้น การเลี่ยงการฝึกหนัก เพื่อเข้าสู่ความพอดี น่าจะเป็นหนทางที่ควรพิจารณาและสังเกตดูว่า เมื่อพยายามปรับสมดุลย์แล้ว ทำเวลาได้ดีขึ้นบ้างหรือไม่ โดยต้องหาจุดเหมาะสมของตัวเองเอาด้วย

7. วิ่งแบบเต๋า แบบเซน
หลังจากประสบความสำเร็จใน New York City Marathon 1990  Douglas Wakiihuri คนผิวดำผู้มีถิ่นกำเนิดจากเคนย่าแต่มาได้รับการฝึกที่ญี่ปุ่น ได้ให้ความเห็นว่า การวิ่งมาราธอนของเขาไม่สามารถแยกออกจากการแสวงหาสัจจะชีวิตได้เลย ชัยชนะของเขาเป็นลีลาชีวิตที่เปรียบเสมือนการเดินทางที่ปราศจากจุดหมายเป็นการแสวงหาสัจจะชีวิตเพื่อการเจริญเติบโตทางวิญญาณ การที่จะประยุกต์หลักเซนมาใช้ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องวิ่งได้ชัยชนะเสมอไปเขานำไปใช้ในเทอมของการลดแรงกดดันและภาวะเครียดจาการแข่งขันได้ ช่วยปรับปรุงวิธีฝึกช่วยโฟกัสการวิ่งให้ถูกจุด กลายเป็นความสนุกสนานตื่นเต้นโดยที่ไม่มีทางที่การวิ่งจะเป็นอื่นไปได้เลย นอกจาก "การประสบความสำเร็จ" การคิดอย่างแชมป์อย่างนี้จะช่วยให้คุณหยั่งถึงศักยภาพที่สุดของตนเองให้จำไว้ว่าความสำเร็จของการวิ่งจะเป็นผลจากการที่ฝึกมาอย่างดีและมีทัศนคติที่เหมาะสมกับการวิ่งด้วย
                                                                                                 โดย กฤตย์ ทองคง

 

นักวิ่งกับจักรยาน

เน็ด โอเวอเรนด์ (Ned Overend) แชมป์จักรยานเสือภูเขา 6 สมัย ผู้มีประสบการณ์มาราธอน 2:28 วิ่งเข้าอันดับสองในการแข่งขัน Pikes Peake Hill อีกสองสมัย (1980,1981) แม้ปัจจุบัน กาลเวลาล่วงเลยมานานแล้วแต่เขาก็ยังใช้การฝึกสองล้อคู่กับการฝึกสองขาอยู่เป็นประจำ นอกจากการซ้อมปั่นจักรยานแล้วเขาซ้อมวิ่งสัปดาห์ละ 3 ครั้ง เพราะเขาเชื่อว่าการวิ่งจะช่วยให้เขามีความเข้มแข็งและประสบผลสำเร็จในจักรยานและทำนองกลับกัน เขาก็เชื่อว่าผลของจักรยานจะช่วยให้การวิ่งดีขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อขี่จักรยานขึ้นที่สูงชันจะมีผลเท่ากับมาฝึกวิ่งอย่างหนักในขณะที่เท้า,ขาและร่างกายจะไม่ต้องได้รับวามกระทบกระเทือนจากแรงกระแทกอย่างหนักหน่วงที่วิ่งลงเขา เน็ด โอเวอเรนด์ แนะนำการฝึกไว้ว่า ควรใช้จักรยานแทนการฝึกวิ่งเป็นประจำด้วยการขี่จักรยานอุ่นเครื่องสัก 2 นาที เบาๆโดยใช้เกียร์ต่ำบนทางราบ ต่อไปหาทางชันขนาดขี่ขึ้นไปไม่เกิน 20 วินาที ขั้นที่สาม คราวนี้ปั่นอย่างเร็วจี๋ ขึ้นทางชันไปให้เร็วที่สุดประมาณ 7-8 ครั้ง จนกระทั่งรู้สึกน่วมขา (ซึ่งนั่นเป็นปฎิกริยาของกรดแลคติคที่กำลังเผาผลาญ) ขั้นสุดท้ายให้คูลดาว์น 20 นาที ขี่แบบเอื่อยๆสบายๆบนทางราบ วิธีแบบนี้ เน็ด เรียกว่า Anaerobic Power Workout สำหรับนักวิ่งที่เอาจริงเอาจังขึ้นไปอีก เน็ด แนะนำเพิ่มว่าให้ปั่นวิธีเดียวกันนี้แหละแต่ให้หนักขึ้นให้ไกลขึ้นและชันขึ้นกว่าชั้นต้น ด้วยการอุ่นเครื่องเท่าเดิม และไม่จำเป็นต้องใส่ใจกับความเร็วขณะขาลง เพราะเป้าหมายการฝึก เน้นความสนใจจากการที่ร่างกายได้รับจากการฝึกขาขึ้นเท่านั้น และอีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ ต้องรู้จักลงแส้ตัวเองบ้าง (Forcing Yourself) อย่างค่อยๆเพิ่มขึ้นด้วยความอดทนต่อความเมื่อยล้าและทรมานอย่างสม่ำเสมอ อย่าใจอ่อนกับสิ่งแวดล้อมที่เย้ายวนจนทำให้หันเหจนอ่อนซ้อม วิธีนี้จะทำให้ได้รับประโยชน์ทั่วร่าง ไม่ว่าจะเป็นการฝึกเคลื่อนย้ายน้ำหนัก,การดึงแฮนด์,การลงแรงขา ช่วยให้กล้ามเนื้อข้อสะโพกแข็งแกร่งมีแรงยืดหยุ่นซึ่งจะช่วยให้การวิ่งบนถนนเป็นไปได้ด้วยดี อีกทั้งเป็นการเพิ่มความฟิตแบบนักกีฬาทั่วร่างกาย โดยที่แม้จะไม่มีกล้ามเนื้อมัดใหญ่ๆให้กินน้ำหนักส่วนบน แต่ร่างกายท่อนบนก็จะแข็งแกร่ง คอยเสริมช่วยเหลือท่อนล่างขณะวิ่งได้ดีอีกด้วย อย่าลืมใส่น้ำให้เต็มขวดกับหมวกกันน็อคของสำคัญนะครับ......

โดย กฤตย์ ทองคง


  การแข่งขันกับความวิตกกังวล

     ความน่าตื่นเต้นเร้าใจ ย่อมเป็นธรรมชาติของการแข่งขันทุกชนิด แต่หากเมื่อใดเดิมพันรางวัลสูงก็ย่อมทำให้ความเร้าใจเพิ่มมากเป็นทวีคูณ แต่หากเดิมพันสูงขึ้นไปอีก ความน่าตื่นเต้นเร้าใจจะถูกความโลภของผู้เข้าแข่งขน ย่อยเปลี่ยนให้เป็นความวิตกกังวล กลัวความล้มเหลวอีกหลายประการ ทั้งสับสนตลอดไปทั้งความต้องการให้สภาพจิตใจที่อลหม่านนี้ผ่านไปเสียโดยเร็ว จึงมีผลทำให้บั่นทอนประสิทธิภาพของการแข่งขันลง สู้อุตส่าห์เตรียมฝึกมาเสียดิบดี หากแต่ด้วยความเกร็งเกินไปก็เลยพลาดได้ ความเกร็งต่อการแข่งขัน ก็ย่อมจะไม่เกิดกับนักวิ่งเพื่อสุขภาพ ไม่หวังรางวัลวิ่งสบายๆไปเรื่อยๆอยู่แล้ว และแน่นอนก็ไม่เกิดกับนักวิ่งเพื่อสุขภาพ ไม่หวังรางวัลวิ่งสบายๆไปเรื่อยๆอยู่แล้วและแน่นอน ก็ไม่เกิดกับนักวิ่งระดับท๊อปที่ไม่ว่าจะเข้าสนามสอบกี่ครั้งต่อกี่ครั้งก็ได้ที่หนึ่งเกือบทุกสนามก็เพราะมันแบเบอร์อยู่ชัดเจนว่า เขาต้องชนะอีกตามเคยแต่ความเกร็งนี้จะเกิดขึ้นกับนักวิ่งระดับกลางที่อาจได้ถ้วยรางวัลหรือตกถ้วยได้ทุกเมื่อ ในแง่หนึ่ง นักวิ่งกลุ่มนี้ น่าจะเป็นกลุ่มที่สนุกสนานมากที่สุด เพราะเป็นพวกที่อยู่ในสถานการณ์ที่กำลังลุ้น ความตื่นเต้นเร้าใจมีสถานการณ์ที่เอื้อให้เข้าได้เข้าใกล้กับความสำเร็จ แต่ในอีกด้านหนึ่ง หากพวกเขาไม่สามารถปรับใจได้ เมื่อถึงเวลาสำคัญ พวกเขาจะเป็นเหยื่อของสถานการณ์ทำให้เกิดความวิตกกังวลจนเกินเหตุไปได้ ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำจากนักวิ่งแนวหน้าระดับโลกบางคน ที่กล่าวถึง ช่วงแห่งความคิดคำนึงในทางสร้างสรรค์ ช่วงสุดท้ายก่อนแข่งว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่ควรไตร่ตรองเพื่อการตระหนักและความเข้าใจที่ถูกต้อง

1) Don’t get undone by adrenaline
     บิล โรเจอร์ อดีตแชมป์ บอสตันมาราธอน และนิวยอร์คมาราธอน 4 สมัย ได้เล่าถึงสิ่งที่เขาได้ทำก่อนการแข่งขันสนามใหญ่ๆว่า เขาพยายามหลีกหนีผู้คน หนีนักข่าว ปลีกตัวออกจากเพื่อนนักวิ่ง เพื่อจะได้ใช้ช่วงเวลานั้นสงบอกสงบใจและจดจ่ออยู่กับแผนวิ่งแข่งที่วางแผนมาอย่างเข้มงวดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งโดยปกติจะเป็นการย้ำตัวเอง อย่าให้ไปเร็วเสียในตอนต้น ด้วยการพยายามควบคุมประสาทให้ดี ไม่ให้บรรยากาศในนาทีสุดท้ายและเสียงสัญญาณปล่อยตัวที่จะมาทำให้พุ่งตัวออกไปอย่างแรงและเร็ว เพราะสิ่งนี้แม้แต่นักวิ่งที่มีประสบการณ์มาแล้วหลายปี ก็อาจตกอยู่ในสถานการณ์นี้อย่างง่ายๆหากไม่ระมัดระวังตัวให้ดี

2)    Put trust in your training
     เบนจี้ เดอร์เดน อดีตนักวิ่งมาราธอนสถิติ 2:09 ที่ปัจจุบันเป็นโค้ช ได้แนะนำว่า "ให้สร้างความมั่นใจในการฝึกที่ได้เตรียมตัวมาว่า เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จและผ่านไปได้ด้วยดี" เดอร์เดน ไม่เชื่อว่าจะมีกลวิธีทางจิตใจใดๆที่จะมีประสิทธิภาพในช่วงไม่กี่นาทีสุดท้ายก่อนการแข่งขันที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จได้หากปราศจากการทำการบ้าน(ฝึก)มาอย่างพร้อมจริงๆ เขานึกสร้างภาพว่า จะต้องวิ่งได้ดีแน่ๆ เพราะได้ฝึกมาอย่างพร้อมและรอบคอบด้วยความตั้งใจจริง โดยนึกให้เห็นภาพการฝึก ตั้งแต่เริ่มต้นเก็บตัวในค่าย ฝึกอย่างมุ่งมาดปรารถนา และค่อยๆเพิ่มความเข้ม ตลอดจนเวลาที่ถูกทดสอบจากการวิ่งได้ลดลงทีละน้อยๆ ย่อมจะทำให้วันสุดท้าย คือขณะนี้ อยุ๋ในสภาพที่พร้อมที่สุดที่จะทำลายสถิติที่ดีที่สุดของตนเองอีกครั้งหนึ่ง

3)    Keep thing in perspective
             คิม โจนส์ นักวิ่งมาราธอนแนวหน้า จะระลึกเพื่อเตือนตัวเองช่วงก่อนการแข่งขันในสนามสำคัญว่า ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม มันก็เป็นเพียงแค่การแข่งขัน มันไม่สามารถมีความสำคัญเทียบเท่าชีวิตถึงความเป็นความตาย แต่แน่นอนที่สุดเธอจะทำให้ได้ดีที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้ ด้วยความมั่นใจเท่าที่ตัวเองมีอยู่ อย่างผ่อนคลาย และด้วยการคิดเช่นนี้ ในนาทีสุดท้ายก่อนออกตัววิ่ง เขาเชื่อว่าจะยังให้เกิดผลสำเร็จได้

4)    Take comfort in your prerace
             เอ็ด อายสโตน เล่าว่า ก่อนแข่งเขามักวิตกกังวลเสมอ ซึ่งมันมาจากความกลัว กลัวในสิ่งที่เขาไม่รู้จัก ไม่รู้ว่าจะทำอย่างอะไร ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เขาพยายามทำใจให้คุ้นเคยในสถานการณ์แข่งแต่ละสนาม ให้เกิดความเคยชินทีละน้อยๆและเฝ้าปลอบโยนให้ตัวเอง ให้ทำดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

5)    Visualize your success
            เดวิด ยูเคลสัน นักจิตวิทยาการกีฬาประจำมหาวิทยาลัย เพนน์ สเตท แนะนำให้นักกีฬาหายใจยาวๆลึกๆ และสร้างภาพว่าตัวเองสามารถ วิ่งไปได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ และมีความมั่นใจ  และมี่คือกุญแจที่ช่วยให้ผ่อนคลายความตึงเครียดลงได้เป็นอย่างดี …..

                                                                                                    กฤตย์ ทองคง

 

สิ่งที่พอช่วยได้

1. กินก่อนแข่งมาราธอน สัก 1-2 ชม.ก่อนแข่ง อะไรที่คุณชอบและควรฝึกกินมาตั้งแต่ซ้อมยาวด้วย ตรงนี้สำคัญ อย่าทำอะไรที่ไม่เคยทำในวันแข่ง นี้เป็นกฎทองคำของนักวิ่งแนวหน้าทุดคน อาจเป็นขนมปังสัก 2-3 แผ่น ขนมเค้กชินเล็กๆ กล้วยสัก 2-3 ผล แต่ต้องลองฝึกกินมาก่อน อย่าลืม วันนี้ไม่ใช่ฮาล์ฟนะครับ มันไกลกว่าสองเท่าเลย ชีวิตไม่ใช่บัญญัติไตรยางค์ ในโลกแห่งความเป็นจริง ระยะทาง 42 กม.มันหนักกว่าการวิ่งฮาล์ฟสองครั้ง อะไรๆที่ไม่เคยเกิดในฮาล์ฟแรก ก็มาประดังประเดกันในฮาล์ฟที่สองนี้แหละ อย่ากินที่ไม่เคยกิน อย่ากินมากกว่าที่เคยกิน ให้กินขนาดที่ ถ้าสมมุติกินแล้วต้องวิ่งเลยก็ยังวิ่งได้ขนาดนั้นแหละครับ
2. อัดน้ำตั้งแต่ต้นมือ ถ้าคุณมีร่างกายที่สมดุลย์น้ำในคืนก่อนแข่งขัน แต่ในเช้าตรู่ที่ตื่นขึ้นมา สิ่งแรกที่ทำคือ "ฉี่" ออกมาเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลย ถ้าคุณ "เข้าซอง" โดยที่ไม่รับใหม่เลยกระทั่งน้ำ ก็เท่ากับคุณเริ่มต้นแข่งขันด้วยร่างกายที่ขาดน้ำ นับเป็นลางร้ายแต่ต้นมือเลยทีเดียว ถ้าจะให้สมดุลย์น้ำเท่ากับเมื่อก่อนนอน คุณก็ต้องดื่มในปริมาณเท่าๆกับที่ฉี่ออกมา เมื่ออีกราว 1-2 ชม.ก่อนแข่ง ให้ดื่มน้ำจากขวดที่เตรียมมาตั้งแต่เมื่อคืนสัก 2 แก้ว ธรรมดาถ้าเป็นแก้วเบียร์ขนาดใหญ่มีหูจับก็แก้วเดียว แบบเต็มๆเลยขนาดประมาณ 16 ออนซ์เป็นต้นไป พูดให้เข้าใจง่ายๆมีปริมาตรเท่ากับนมกล่อง 2 กล่องนั่นแหละครับ ตื่นขึ้นมาดื่มเลยอย่าถามว่า "ยังไม่หิวน้ำ" เดี๋ยวตีตายเลย บังคับให้ดื่มแข็งใจซัดอักๆให้หมดรวดเดียว ฝึกวิ่งกันมาเป็นร้อยๆโล วิ่งได้ ให้ดื่มน้ำแค่นี้กลับมีปัญหา ปัดโธ่ 1-2 ชั่วโมงนี่ใกล้เกินจะฉี่ออก แต่ก็นานพอเกินกว่าที่คุณจะจุกได้ เอาไว้เป็นน้ำสำรองทดแทน ซึ่งเข้าไปแทนที่ออกมาถือว่าเท่าเดิมด้วยซ้ำ ในสนามแข่งก็ให้รับน้ำทุกจุด ถ้าคุณรอให้หิวน้ำเสียก่อนจะสายเกินไป นั่นหมายความว่าคุณจะดื่มมันมากเกินไป สภาพที่ดีที่สุดคือ การดื่มประมาณ 5-12 ออนซ์ทุก 15-20 นาที โดยทั่วไปนักวิ่งมักจะรับน้ำน้อยเกินไป การที่รับน้ำได้อย่างพอเพียง จะทำให้เลือดหมุนเวียนในร่างกายได้ราบรื่น จากหัวใจไปแขนขนและทั่วร่าง และนำเอากรดแลคติคของเสียที่เกิดจากกระบวนการเผาผลาญออกจากกล้ามเนื้อได้โดยสะดวกอีกด้วย เท่ากับการที่รับน้ำได้มากพอเพียง ทำให้ป้องกันการเป็นตะคิวได้ ถ้าคุณรับน้ำไม่พอเพียงเลือดก็จะข้นขึ้น การไหลเวียนของเลือดก็จะหนืด ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น ต้องปั๊มแรงก็เลยเหนื่อยกว่าปกติ กลัยโคเจนก็จะถูกทำให้ลดระดับในอัตราที่เร่งมากขึ้น ในขณะที่เราต้องการประหยัด ถ้าคิดว่าการรับน้ำจะทำให้ช้าลง โทษที แค่ 2-3 วินาทีเท่านั้น แต่เดี๋ยวในเส้นทางข้างหน้าจะคุ้มค่ากว่ากันครับ เชื่อไอ้ฤทธิ์เถอะ ตอบคำถามว่า การรับน้ำที่มากเกินไปจะมีผลเสียหรือไม่ ไม่มีครับ ยกเว้นจุก ซึ่งถ้าคุณดื่มในระดับที่ไม่จุกจะไม่มีโทษเลย แต่การขาดน้ำหรือรับไม่พอเป็นเรื่องใหญ่มาก มันพกกันรวมกันไปทุกระบบและจอดในที่สุด พูดอีกอย่างว่าดื่มให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้โดยไม่จุกนั่นแหละ ขอแถมเรื่องสำคัญก่อนจบ อีกประการที่จะช่วยให้ระยะทางสิบกิโลหลังในระยะมาราธอนให้เป็นไปอย่างมีเรี่ยวแรงคือ "การเรียวลง" (TAPER) นี่ก็เป็นสิ่งสำคัญที่เพื่อนนักวิ่งพลาดกันเยอะ กลัวว่าจะซ้อมไม่พอบ้างหละ กลัวว่าจะยึดบ้างหละ กลัวว่าจะเหี่ยวบ้างหละ ทำให้สัปดาห์สุดท้ายยังฝึกกันอยู่หนักๆทั้งนั้น แบบนี้ต่อให้เป็นแชมป์โลกก็วิ่งไม่ออกหรอกครับ  การวิ่งยาวประจำสัปดาห์ที่หนักครั้งสุดท้าย ควรจะอยู่ในราว 2-3 สัปดาห์สุดท้ายก่อนวันแข่งขัน จากนั้นก็ให้น้อยลง จางลงมาเรื่อยๆจนกระทั่ง 7 วันสุดท้ายก่อนแข่งให้หยุดสนิทเลย ถ้ามีธุระก็ให้ไปทำได้เลย หยุดมันทั้ง 7 วันนั่นแหละ ไม่ต้องวิ่ง ไอ้ฤทธิ์ไม่ว่าไร ปัญหาของพวกเราก็คือ ทนไม่ได้ การไม่ได้วิ่งมันเหมือนจะลงแดง มันอยากวิ่งแล้วมันก็สดเสียไม่มีด้วย ก็มันน้อยลงๆมาเป็นสัปดาห์แล้วนี่ อย่าทีเดียวครับ ใจแข็งไว้ ที่ผู้เขียนบอกให้หยุดตรงนี้ขอให้ตระหนักว่ามันอยู่ในโปรแกรมฝึกด้วย การหยุดหาใช่การขาดซ้อมไม่ การพักคือการฝึกครับ ขอยืนยัน ถ้าผู้เขียนเป็นโค้ชมาราธอนให้กับทีมนักกรีฑา แล้วจับได้ว่าใครแอบไปเติมในช่วงที่ให้เรียวลง ผู้เขียนจะตัดออกจากทีมทันที ครับ ที่เล่านี่เพื่อให้พวกเราตระหนักว่ามันสำคัญมากขนาดไหน การที่ยังมีแชมป์บางคนลงจ๊อกเบาๆ 4-5 กม. ละก็ได้ เป้าหมายเขาเป็นไปเพื่อเป็นการเตือนร่างกายให้ระลึกอยู่เสมอว่า ยังเป็นนักวิ่งอยู่เท่านั้น หาได้มีเป้าหมายที่เพิ่มพูนอะไรไม่ โปรดสังเกตว่า เขาจะวิ่งช้ามาก ขนาดวอร์มอัพเท่านั้นแล้วกลับบ้านเลย ถ้าสัปดาห์สุดท้ายคุณยังห้ออยู่เป็น 10 กม.นี่ ผู้เขียนทำนายว่าเวลาสถิติออกมาไม่ดีหรองครับ เคยมีเพื่อนนักวิ่งของผู้เขียนลองหยุดวิ่งในสัปดาห์สุดท้ายก่อนแข่งในสนามมาราธอนดู ทั้งๆที่ไม่มีแผนใดๆเพิ่มเติมเลย พบว่าตัวเขาสามารถทำลายสถิติของตัวเองได้ มันแปลกดีนะ ทั้งๆที่แต่ก่อนนี้ ฝึกกันแทบล้มประดาตายเวลากลับยาวออก ยาวออก เอ้า สารวัตรดำรง ช่วยเล่าให้พรรคพวกฟังหน่อยครับ

จาก BREAKING THROUGH THE WALL
BY DAVE KUEHLS     R.W. SEP 1997 P.53-4
โดย กฤตย์  ทองคง


 

กฎของไมโล

การปรับปรุงการวิ่ง เพื่อให้ผู้วิ่งสามารถวิ่งได้ความเร็วที่มากขึ้น หรือเพื่อให้วิ่งได้ทนนานมากขึ้น มีโค้ชหลายคนให้ความเห็นที่ต่างกันออกไปและทำให้วิธีฝึกเพื่อให้ได้มาก็ย่อมต่างกันออกไปด้วย ตัวนักวิ่งเองก็สามารถเลือกที่จะเชื่อโค้ชคนไหนก็ได้ เพื่อน้อมนำเอาคำแนะนำของเขามาฝึกตัวเรา วิธีการของโค้ชบางคนก็ขัดแย้งกันเองบ้าง พวกเราชาวนักวิ่งผู้ชาญฉลาด ก็เลือกที่จะเชื่องในวิธีการที่ตรงกันของโค้ชหลายคน โดยมีสามัญสำนึกเอาว่า น่าจะเป็นวิธีการที่ถูกต้องที่สุดด้วยเป็นสิ่งที่เห็นพ้องกันจำนวนมาก หนึ่งในวิธีการที่ฝึกตรงกันมากก็คือ "กฎของไมโล" (MILO’S PRINCIPLE) ที่เราควรรู้จักเอาไว้ ไมโลในที่นี้ไม่ใช่ไมโลเครื่องดื่มนะครับ คนละอย่างกัน ไมโลเป็นตำนานโบราณของกรีกที่เป็นชื่อของนักมวยปล้ำผู้ซึ่งไม่เคยแพ้ใคร เขาเป็นนักกีฬาที่มีชื่ออยู่ระหว่าง 532-516 ปี ก่อนคริสตกาล ไมโลมีวิธีการฝึกร่างกายของเขาให้แข็งแกร่งตามหลักการง่ายๆด้วยการฝึกยกลูกวัวทั้งตัว ชูขึ้นเหนือหัวทุกๆวันและลูกวัวซึ่งจะเติบโตและมีน้ำหนักมากขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป ก็ย่อมเป็นการทำให้ไมโลแข็งแกร่งขึ้นทีละน้อยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไมโลไม่ได้ยกลูกวัวเมื่อวานแล้วรุ่งขึ้นไปยกแม่วัว เพียงแต่ยกลูกวัวเท่านั้นแต่ยกทุกวัน ดังนั้นเรื่องของไมโลจึงบอกแก่เราว่า การฝึกร่างกายเพื่อเพิ่มระดับประสิทธิภาพใดๆก็ตาม เราจำต้องขยับทีละน้อย อย่าฮวบฮาบจนธรรมชาติร่างกายค่อยๆปรับความสามารถ รับอุปสรรคที่หนักเช่นนั้นได้ ในวงการกีฬาปัจจุบันก็ยังใช้หลักการฝึกร่างกายนักกีฬาตามกฎของไมโลอยู่อย่างเดิมและแพร่หลายจนแทบจะเรียกได้ว่าหานักเวชศาสตร์การกีฬาสมัยใหม่ที่คัดค้านหลักการของไมโลไม่ได้แม้แต่คนเดียว  ตรงนี้ผู้เขียนจึงสันนิษฐานว่า บริษัทที่ขายเครื่องดื่มชื่อซ้ำกับตำนานนี้คงได้เอาชื่อนักกีฬาจอมพลังมาเป็นชื่อการค้า (โดยไม่ได้จ่ายเงินค่าสิทธิในการใช้ชื่อกับอีตาไมโลแต่ประการใดเพราะตะแกตายไปนานแล้ว) กลับเข้าเรื่องของเราต่อ ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่า เรื่องกฏค่อยๆเพิ่มนี้มันก็เป็น "ของตาย" อยู่แล้วไม่น่าเอามาเล่ากันฟังเลย มันซิมเปิ้ลแท้ๆ คืออย่างนี้ครับกับ "ไอ้ซิมเปิ้ลๆ" นี่แหละเห็นกันมาบ่อยเสียด้วย มีทั้งประเภทที่ฝึกหนักเกินไป,มากเกินไป,ถี่เกินไป,ไม่ชอบวอล์มลงเร็วเลย,รวมทั้งสูตรการฝึกที่ไม่ลงความเร็วเลย คือเอาแต่วิ่งเสมอ,เยอะเข้าว่า แต่อยากได้ถ้วยรางวัลแล้วอย่างนี้จะคว้าดวงดาวได้อย่างไร ติ้ดต่างว่า คุณไมโลมาฝึกวิ่ง ผู้เขียนว่า เขาคงค่อยๆเพิ่มให้เร็วกว่าที่วิ่งได้นานแค่ไหนก็ให้วิ่งให้นานกว่านั้นเข้าไปอีกเล็กน้อย (โดยอาจหย่อนควารเร็วลงบ้างแล้วค่อยเพิ่มเข้ามาทีหลัง) เคยพักนานแค่ไหนก็ให้ใช้เวลาพักที่น้อยลง (หมายความรวมทั้งการจ๊อกเบาสลับ เพื่อคืนสภาพและเซ็ทวันบางวันเป็นวันหยุดวิ่งลงในโปรแกรมฝึกด้วย) เมื่อคุณไมโลจะขยับเพิ่มใดๆก็ตามเขาจะควบคุมความเข้มไม่เกิน 10% ต่อสัปดาห์ ก่อนที่จะเพิ่มเข้าไปอีก เช่นนี้ไปเรื่อยๆจนกระทั่งถึงจุดเป้าหมายความเร็จที่ต้องการ และในทำนองกลับกัน ถ้าคุณวิ่งมาแล้วเป็นแรมปีแล้วก็ไม่เคยวิ่งให้เร็วกว่าที่เคยวิ่งได้อยู่ คุณก็จะวิ่งได้แค่นั้นตลอดไป ถ้าเราต้องการพัฒนาที่ให้เร็วขึ้น เราต้องรักษาระดับความทรมานจากความหอบเหนื่อย ให้หอบเหนื่อยอยู่ตลอดเวลา ร่างกายก็จะหรับตัวให้ทรมานที่น้อยลงจากวันคืนมารฝึกผ่านไป และเมื่อใดที่เรารู้สึกทรมานน้อยลงก็ให้เติมหนักเข้าไปอีกเพื่อรักษาระดับความหอบเหนื่อยให้ทรมานเท่ากับเมื่อแรกฝึก ร่างกายก็จะปรับประสิทธิภาพขึ้นเพื่อรับมือ จนเข้าสู่การทรมานที่น้อยลง แล้วก็เติมอัดอีกอย่างนี้ไปเรื่อยๆที่ละน้อยๆเหมือนอีตาไมโล ทีนี้กว่าคุณจะรู้ตัวว่าอะไรเป็นอะไร คุณจะพบว่า คุณยกลูกวัวได้ เอ้ย..ไม่ใช่ คุณจะพบว่าเหนื่อยน้อยลงกว่าเพื่อนนักวิ่งที่เคยมีฝีเท้าไล่เลี่ยกัน แต่คุณวิ่งเข้าเส้นชัยก่อน ใครๆเขาเป็นตะคิวกัน,ใครๆเขาชนกำแพงกัน คุณกลับเดินกลับเย้ยยิ้มร่าหลังเข้าเส้นชัย ทักทายคนโน้น คนนี้ เรื่องมันเป็นอย่างนี้แหละครับ

โดย กฤตย์  ทองคง


 

นักวิ่ง 4 ประเภท (จำแนกตามความเร็ว)

นักวิ่งประเภท A
เป็นพวกแชมป์ที่มีผลแข่งขันที่ได้ถ้วยรางวัลทุกสนาม ไม่ค่อยพลาด วิ่งเร็วจริงๆและเพราะวิ่งยังไงก็ชนะเรื่อยๆ จึงสนใจงานวิ่งที่มีซองรางวัล(เงิน)มากกว่าถ้วยรางวัล ค่าที่ว่าเงินกินได้แต่ถ้วยกินไม่ได้มันแข็งและไม่อร่อยเลยได้แต่เอาไปวางไว้ แรกๆก็ภูมิใจแต่นานๆเข้ามากขึ้นทุกที ชักเกะกะบ้านสู้เงินไม่ได้ ถ้วยที่พอจะสนใจบ้างก็มักจะเป็นถ้วยพิเศษ เช่น ถ้วยพระราชทานอะไรอย่างนี้

นักวิ่งประเภท B
เป็นพวกที่วิ่งแบบเกือบได้บ้าง เกือบตกบ้าง บางสนามก็ได้ถ้วยบางสนามก็หลุด ถ้าพวกประเภท A มามากในสนามใด ประเภท B ก็จะหลุด เป็นนักวิ่งที่สนใจปรับปรุงฝีเท้าฝึกอย่างเอาจริงเอาจัง เป็นประเภทที่พวก A ประมาทไม่ได้เผลอๆพวก B หายใจรดต้นคอเอาได้ พวก B บางคนทำการบ้านดีก็อาจเขยิบสถานะเป็นพวก A ได้ และทำนองเดียวกันก็มีพวก A ไม่น้อยที่เคยเป็น A อยู่ แต่ฝีเท้าตกลงเป็น B ได้เหมือนกัน นักวิ่งพวก B นี้ จะรู้จักพวก A และ B ด้วยกัน มากกว่าที่จะรู้จักพวก C และ D นักวิ่งพวก B นี้สนใจถ้วยรางวัลมากกว่าซอง กลับกันกับพวก A และชอบไปสนามที่ให้ถ้วยรางวัลธรรมดามากกว่าถ้วยพระราชทาน ไม่ใช่ไม่อยากได้ อยากได้แต่วิ่งเร็วสู้พวก A ไม่ได้ งานวิ่งไหนที่มีซอง (หรือซองยิ่งหนา),งานไหนมีถ้วยพระราชทาน พวกนักวิ่ง A ก็จะไปกันมาก ผลก็คือ พวกนักวิ่ง B ไปงานเล็ก งานที่มีถ้วยธรรมดาหรืองานที่ไม่มีซอง งานนั้นก็จะไม่ยากนัก เพราะไม่มีพวก A ไปมาก โอกาสที่นักวิ่ง B จะได้ถ้วยก็มีมากกว่าที่จะดันทุรังไปสนามใหญ่ ไปก็อดน่ะซิถามได้ ความแตกต่างอย่างนี้นี่เองที่ทำให้มีผลต่อการตัดสินใจต่อการไปวิ่งหรือไม่ ต่อการตัดสินใจไปสนามไหน ในกรณีที่จัดชนกัน ที่นักวิ่งทั้งสองประเภทเท่านั้นที่จะเข้าใจ นักวิ่งประเภทอื่นและผู้จัด ไม่มีเรื่องเหล่านี้อยู่ในหัว ก็มักจะมองทัศนคติเหล่านี้อย่างออกจะเหยียดๆในที ตราบใดที่ถ้าเข้ามีฝีเท้าที่เร็วขึ้นมาอยู่ในพวก B เมื่อไร จะเข้าใจเมื่อนั้น ตรงนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงผู้จัดงานวิ่งบางรายที่อยากให้งานมีนักวิ่งมาวิ่งกันมากๆด้วยเจตนาดังนี้ จึงทำให้จัดสรรซองรางวัลให้หนา ซองให้มากรุ่น โดยเชื่อว่าจะมีนักวิ่งมาชิงชัยกันมากมาย แต่ความเป็นจริงจะตรงกันข้าม คุณจะได้แต่นักวิ่งประเภท A เท่านั้นที่เข้าชิงชัยกันที่มีจำนวนทั้งประเทศเพียงหยิบมือเดียว สิ่งที่สนามคุณจะได้ก็คือ สถิติ ความเร็วผู้ชนะประจำสนามจะเร็วมาก ที่มันหาได้มีความหมายกับผู้จัดไม่ นักวิ่งพวก B ที่แน่นอนจะมีจำนวนที่มากกว่าพวก A ก็จะมากันน้อย แต่กับพวก C และ D พวกนี้กลับสนใจเหรียญและเสื้อมากกว่า หาใช่ซองที่ผู้จัดคาดหวังนั้นไม่ ลงถ้าคุณจัดซองหนาแต่เหรียญห่วย นักวิ่งก็มาน้อยอยู่นั่นเอง แต่งานที่ซองหนาแต่นักวิ่งก็ยังไปกันอยู่มากก็เพราะเขาจะไปเอาเหรียญหรือเพราะแรงจูงใจอื่นหาใช่ซองรางวัลที่ผู้จัดเข้าใจ ดังนั้นต้องเข้าใจตรงนี้นักวิ่งไม่ได้ตัดสินใจไปวิ่งด้วยแรงจูงใจที่เหมือนกันทุกคนอย่างที่ผู้จัดคาดหมาย

นักวิ่งประเภท C
เป็นนักวิ่งเพื่อสุขภาพที่ยังมีแก่ใจนิยมชมชอบทำ P.R. (Personel Record) คือพยายามทำเวลาให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งยังเป็นผู้ที่สนใจโปรแกรมฝึกพัฒนาฝีเท้าบ้าง แม้จะไม่เคร่งเครียดเท่าใดนัก พวก C นี้ไม่เคยได้ถ้วยรางวัลใดๆพวก C นี้จะไม่มองพวก A และ B ว่าเป็นคู่ปรับที่ต้องวิ่งให้ชนะหรือเทียบเท่าเลย เพราะวิ่งยังไงก็ไม่ทัน แต่จะให้วิ่งช้าไปเลยก็ทำใจไม่ได้ เป็นนักวิ่งประเภทที่น่าสนใจมากที่สุด พวกเขาเป็นพวกที่สนใจว่าจะปรับปรุงฝีเท้าวิ่งให้เร็วได้อย่างไร พร้อมๆกับให้ความสำคัญกับมิตรภาพ,การชนะตนเอง คือเป้าหมายของเขา

นักวิ่งประเภท D
เป็นพวกที่ตัวเองเน้นว่าที่วิ่งนี้ก็เพื่อสุขภาพที่แท้จริง ไม่สนใจความเร็วเลย แบบวิ่งไปโบกธงไป ร้องเพลง ปรบมือ คุยกันหนุ๋งหนิง ใครจะเร็วแซงไปเลย ใครจะโกงไม่เกี่ยว พวกนี้วอรี่ที่น้ำหมด เหรียญไม่พอกับรถตามเก็บ อย่างหลังนี่แสบที่สุด กลัวกันนัก พวก D นี้มองการวิ่งปรับปรุงความเร็วอย่างไม่ให้ค่าแม้แต่น้อย บางรายออกเหยียดๆอยู่ในใจด้วยซ้ำว่า “เครียด” และ “ไม่เป็นผลดีกับสุขภาพ” อีกด้วย...

โดย กฤตย์ ทองคง


 

การวิ่งกับเกษตรกรรม

ผู้เขียนชอบที่จะเปรียบเทียบการฝึกวิ่งเพื่อพัฒนาความฟิตและความเร็วของร่างกายกับเกษตรกรรม ตรงที่มีกระบวนการละเอียดอ่อนหลายประการที่จำเป็นต้องกระทำเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เมื่อเรารดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ย จัดหาสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมให้อยู่ในที่ทางของมัน ปุ๋ยอะไรควรจะใส่เมื่อไรมากน้อยขนาดไหน ใช่ว่าคิดจะบำรุงก็ประเดปุ๋ยลงไป มันไม่ง่ายอย่างนั้น การวิ่งเพื่อฝึกความเร็วก่อนมีการปูพื้นฐานให้นักวิ่งที่แข็งแกร่งเสียก่อนย่อมไม่บังควรกระทำ เฉกเช่นการเร่งปุ๋ยผิดเวลาผิดขนาดจำนวน ความข้อนี้เกษตรกรต้องเข้าใจ

ดังนั้นการฝึกวิ่งจะเริ่มลงมือเมื่อได้โบรชัวร์สนามวิ่งไม่ได้เป็นอันขาด ด้วนว่ามิเช่นนั้นมันจะมีอาการเหมือนกับการหว่านเมล็ดพันธ์เพาะปลูกเมื่อหิวข้าว เราย่อมไม่อาจคาดหวังว่าจะได้กินในวันนี้ จากอิ่มจนหิว วนเวียนไม่รู้จะอีกกี่สิบกี่ร้อยหิวพันอิ่มข้าวมันถึงจะแปรรวงจากท้องนามาร้อนกรุ่นเป็นข้าวสวยอยู่หนน้าสำรับ

ผู้เขียนถูกถามเป็นประจำ “ ฝึกวิ่งเนื่ยะเพื่อจะไปไหน ?” ผู้เขียนตอบไม่ได้หรอกครับว่าฝึกเพื่อที่จะไปสนามไหน บอกได้แต่ว่า มะม่วงมันออกลูกแล้วสุกเมื่อไร ก็ปอกกินเมื่อนั้นแหละจะให้กำหนดวันไม่ได้ ของอย่างนี้มันต้องพร้อมทั้งปี ขอให้มันเร็วเถอะ สนามไหนก็ได้ ลองถ้ามันไม่พร้อมสนามไหนออกมามันก็ไม่ดีทั้งนั้น ผู้เขียนพยายามเพียรตอบไปเถอะ รายนี้ตอบไป รายอื่นก็เข้ามาถามอีก “ฝึกนี่จะไปไหน” พนักเข้าก็เลยบอกว่าไป “เขากบ” เพื่อนนักวิ่งฟังก็ต๊กกะใจอีกตั้งห้าหกเดือนโน่น เข้าใจไปว่า งานนี้คุณกฤตย์เอาแน่ กะจะไปฟันหัวแชมป์ให้แบะเลย ซุ่มฟิตเข้าสังเวียนทีเอาให้กระหึ่มเลยทำนองนั้น เข้าใจไปโน่น ผู้เขียนตอบตัดบทมากกว่า เพราะสนามไหนจริงๆแล้วก็ยังตอบไม่ได้ แต่ที่แน่ๆสนามเขากบจะไป ก็บ้านผู้เขียนอยู่ที่นี่นี่นา ไม่ต้องเสียค่าเดินทาง โอกาสอย่างนี้ปีนึงมีที ก็ควรจะวิ่งซะ แต่หากว่าเกิดธุระจำเป็นกก็อาจไม่ได้มาร่วมจอยด้วยก็ยังมีโอกาสเป็นไปได้ ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไร มันเป็นคนละอย่างกับการซุ่มฟิตเพื่อที่จะช่วงชิงชัยชนะให้ได้ คนละอย่างครับ ผู้เขียนมีลีลาฝึกแบบให้พร้อมทั้งปี บ้านเรา ผู้จัดไม่ออกโบรชัวร์นานหรอก พอได้รับโบรชัวร์และถ้าตกลงจะไป ก็เริ่มซ้อมน้อยลงและเตรียมหยุดวิ่งเพื่อจะไปแข่งให้ได้ดีที่สุด ขณะที่เพื่อนนักวิ่งเริ่มลงมือซ้อมกัน เราเลือกหนทางที่สวนกันอย่างนี้เอง ใครจะพัฒนาเร็วได้ใน 3-4 สัปดาห์ ก็เอาเถอะครับ สำหรับผู้เขียนทำไม่ได้ เรื่องอย่างนี้ เกษตรกรพื้นบ้านมีความรู้ความชำนาญมากกว่าคนเมือง ชาวนักวิ่งต้องศึกษาจากพวกเขา ชาวไร่ชาวสวนจะเพาะปลูกเมื่อมีความพร้อม ที่มีเมล็ดพันธ์ก็ลงมือทำไว้ แม้ตัวเองจะไม่ได้กิน ก็ให้ลูกให้หลานมันกิน ผิดนักก็ยังพอให้ร่มให้เงาคนผ่านทาง เป็นบ้านอาศัยของ นก,หนู,กิ้งก่า,อีกา,หนอน บรรพบุรุษของเรามีสำนึกยาวไกลและลึกซึ้งกว่าคนสมัยนี้เยอะ นี่ถ้าลองไม่เห็นประโยชน์เป็นเนื้อเป็นหนังก็ไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม อะไรต่างๆจะมีคุณค่าก็เพราะมันถูกตีราคาแลกเปลี่ยนเป็นเม็ดเงินได้กี่อัฐเท่านั้น มิติเดียวจริงๆ ชีวิตสมัยนี้ถึงได้ร้อนทุรน หาความสงบสุขไม่ได้ แปรเจตนาดีของผู้อื่นที่เสนอเข้ามาว่า “แม่ง..กำลังหาทางเอาเปรียบกู” “กูรู้ทัน” “กูไม่ยอมมึง” กลับเข้าเรื่องเดิมเถอะ เมื่อเราฝึกคอร์ทความเร็วแล้วไม่ขึ้น ชักเริ่มท้อ ให้นึกถึงการที่เราเหลือบมองต้นไม้ที่ดูแล้วไม่สูงเท่าไรจากเดือนที่แล้วเลย นั่นไม่ไช่เป็นสิ่งที่ผิดปกติ ของอย่างนี้มันโตช้า แชมป์ฝึกวิ่งกว่าจะเก่งต้องหลายปี ใจเรามันร้อนไปเอง การเข้าสูตรเพื่อฝึกวิ่ง ไม่ว่าจะเร็วเพื่อเอาไปแข่ง , ฝึกวิ่งเพื่อลดความอ้วน หรือเพื่อหลีกหนีความเจ็บไข้ ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายใดก็ตาม เราต้องการเวลาทั้งสิ้น ถ้าไม่ทันใจ เลิกล้มไปกลางคัน เท่ากับที่เพาะปลูกมาไม่รดน้ำพรวนดินต่อปล่อยให้ยืนต้นตายฟรี รองเท้าสึกเปล่าประโยชน์ ไร้ความหมาย นอกจากนี้ยังจะต้องให้ครบองค์ประกอบ ที่แม้จะไม่ค่อยใส่ปุ๋ย ไม่ค่อยรดน้ำ บางทีธรรมชาติก็ใจป้ำอยู่ แต่จะให้มันอวบอิ่ม หวานกรอบอย่างที่อยากกินนั้น อย่าพึงหวัง ได้มาอย่างเปรี้ยวๆฝาดๆ มันก็ได้เท่าที่เราทำการบ้านมาเท่านั้น You’ll get what you pay ยิ่งถ้าคิดฝันจะเอาผลผลิตของเราเข้าประกวด ยิ่งต้องดูแลขนาดทั้งให้ปุ๋ยทั้งน้ำจนแทบจะนั่งเฝ้าทั้งวันทั้งคืน ยังไม่ยอมให้เข้ารอบสุดท้ายเลย ก็สวนอื่น,ฟาร์มอื่น เขาพร้อมกว่า เจ๋งกว่ายังมี การวิ่งมันเป็นเรื่องที่วัดกันที่ใจ นั้น ใช่แล้ว แต่ไม่ใช้ใจกันตอนวัดความเร็วในสนามเท่านั้น แต่เราวัดใจกันตรงที่ระหว่างเราใครจะมีความใส่ใจ , ใครจะมีองศาแห่งความตั้งมั่น , หล่อเลี้ยงความฝัน ยืดเยื้อยาวนาน ไม่เหลาะแหละ เหยียบขี้ไก่ต้องฝ่อ ไม่ฝันเฟื่องเป็นพักๆแล้วเลิกแบบเด็กๆ แต่ฝีเท้าที่พัฒนาขึ้นได้เร็ว มันย่อมแสดงสปิริตของตัวตนให้ผู้อื่นเห็นความตั้งใจจริงว่ามีวินัยกับตนเอง ที่ปักหลักผูกพันธ์ตนเองกับพันธกิจบางประการ ซึ่งใครก็ตามที่สภาพร่างกายเป็นไปตามเป้าหมายการฝึก เราย่อมเชื่อมั่นได้ว่าเขาย่อมเป็นคนที่มีคุณภาพ แสดงออกว่าเป็นคนทำอะไรทำจริง งานอะไรถ้าเลือกที่จะทำ เลือกจะเชื่อเสียแล้ว ย่อมทำได้เสมอ การวิ่งมันวัดกันที่ใจก็ตรงนี้แหละครับ ว่ากันว่า ความสำเร็จของพวกเราชาวนักวิ่ง มิใช่การเข้าสู่เส้นชัยด้วยชัยชนะ แต่หากเป็นการเข้าซองสตาร์ทด้วยความพร้อมต่างหาก “

โดย กฤตย์ ทองคง




Page : [1] [2] [3] [4] [5] [6] [7]